อนาคตใหม่ของเมืองที่เป็นไป(ไม่)ได้
“It’s easier to imagine the end of the world than the end of capitalism”
- Mark Fisher, Capitalist Realism: Is there no alternative? -
หากคุณลองจินตนาการถึงภาพของเมืองในอนาคต ภาพของเมืองแบบไหนที่ผุดขึ้นมาในความคิดของคุณเป็นภาพแรก? ถ้าคำตอบคือตึกระฟ้าสูงตระหง่านแบบใน Blade Runner 2049 มีป้ายไฟนีออนกะพริบเรียงรายแบบใน Ghost in the Shell หรือหากเป็นภาพตึกรามบ้านช่องหน้าตาดูไซไฟที่ทอดยาวต่อเนื่องไปสุดลูกหูลูกตา เป็นไปได้ว่าคุณได้รับอิทธิพลมาจากการเสพสื่อและวรรณกรรมแนว Cyberpunk
ในบรรดาจินตนิยาย (Speculative Fiction) ที่พยายามจินตนาการและคาดเดาภาพของโลกอนาคตอยู่ภายใต้ร่มของวัฒนธรรมย่อยแบบพังก์ อันเป็นกระแสวัฒนธรรมที่มีเป้าหมายหลักคือการขบถต่ออำนาจนิยม ต่อต้านการครอบงำตลาดของบริษัทยักษ์ใหญ่ และส่งเสริมเสรีภาพส่วนบุคคลให้เข้มแข็ง Cyberpunk เป็นกระแสพังก์กระแสหนึ่งที่แทรกซึมเข้าไปอยู่ในสื่อศิลป์หลายประเภท และเป็นที่นิยมมากเสียจนมีอิทธิพลในกระแสการรับรู้ต่อภาพอนาคตที่จะเกิดขึ้น
ทว่าหากลองสังเกตสิ่งที่มีร่วมกันของภาพเมืองในอนาคตแต่ละแห่ง กลับจะพบแต่ความรู้สึกสิ้นยินดีเสียเต็มประดา ทั้งที่เทคโนโลยีในเมืองมีความก้าวหน้าล้ำสมัย แต่ชีวิตของผู้คนในเมืองเหล่านั้นกลับ “บัดซบ” สิ้นดี ตามวลีเอกของวรรณกรรม Cyberpunk “High Tech — Low Life”
แล้วทำไมภาพจำกระแสหลักของสังคมต่อเมืองในอนาคตถึงเป็นไปในแบบดิสโทเปียที่แสนจะหม่นหมองแห้งแล้ง เราจะฝันถึงเมืองในอนาคตที่ดีกว่านี้ไม่ได้เลยหรือ?
Solarpunk สาดส่องแสง
หนึ่งในคำตอบ อาจจะอยู่ที่อีกแนวทางหนึ่งของวรรณกรรม ศิลปะ และสถาปัตยกรรม อันรวมกันเป็นความเคลื่อนไหวที่มีชื่อว่า “Solarpunk”
ตรงกันข้ามกับความเสื่อมทรามของอารยธรรมใน Cyberpunk ที่ถูกกัดกินโดยทุนนิยม ภาพของเมืองแบบ Solarpunk นั้นร่มรื่นและสดใสไปด้วยสีเขียวของแมกไม้และเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน กังหันลมและแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทอดยาว แซมด้วยตึกในสถาปัตยกรรมแบบอาร์ตนูโวสีขาวสะอาดตา โดยในขณะเดียวกันตึกในสถาปัตยกรรมเก่าแก่ก็ยังถูกอนุรักษ์เอาไว้ (และไม่ถูกทุบทำลายทิ้งเพื่อสร้างห้างสรรพสินค้าราคาแพง) การคมนาคมก็อยู่บนพื้นฐานของพลังงานสะอาดและการเดินเท้า รวมไปถึงผู้คนในเมืองต่างก็ดูชื่นมื่นสุขภาพดี การปลูกสวนบนระเบียงและดาดฟ้าอาคารก็แสดงถึงการศึกษาที่ไม่ได้สอนแค่การใช้เทคโนโลยี แต่รวมถึงการสอนให้รู้จักวิถี DIY (Do It Yourself) ด้วย และเนื่องจากหน้าที่การงานก็ไม่ได้ถูกทำให้กลายเป็นสินค้า (Commodification) แบบทุนนิยม ความนิยมในอาชีพหัตถกรรม ศิลปกรรม และงานฝีมือต่าง ๆ จึงยังคงเป็นตัวเลือกอาชีพที่ผู้คนสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งนั่นก็ทำให้การแต่งกายของผู้คนไม่ได้เป็นไปตามแฟชั่นแดกด่วน แต่กลับประดับไปด้วยเสื้อผ้าและเครื่องประดับทำมือที่ได้มาจากชุมชนพหุวัฒนธรรมที่แม้แตกต่างหลากหลายแต่ก็แน่นแฟ้นและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อันเป็นชีวิตและเมืองบนพื้นฐานของความยั่งยืน ราวกับเป็นงานรื่นเริงของการสมรสกันระหว่างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และระบบนิเวศโดยรวมของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น Solarpunk จึงไม่ได้มุ่งหวนคืนสู่ป่าเขาลำเนาไพร หากแต่ก็ปฏิเสธที่จะให้เทคโนโลยีและบริษัทยักษ์ใหญ่ครอบงำชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนเช่นกัน เมืองแบบ Solarpunk จึงไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อกำไรไว้ตอบสนอง stakeholder ที่เป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ แต่เกิดขึ้นมาเพื่อโอบกอดผู้อยู่อาศัยทุกผู้ทุกคน
จากจุดกำเนิดในบล็อกเล็ก ๆ ของผู้เขียนนิรนามในปี 2008 จนเริ่มเข้าสู่กระแสหลักจากความโด่งดังของโพสต์ concept art แนว Solarpunk บนโซเชียลมีเดีย Tumblr ในปี 2014 ของศิลปิน Olivia Louise ที่ปัจจุบันมี reblog กว่าห้าหมื่นครั้ง กระนั้นแนวคิดภายใต้ชื่อ Solarpunk ในศิลปะและวรรณกรรมนั้นมีให้เห็นมานานแล้วก่อนหน้านั้นในนวนิยายอย่าง Island (1962) ของ Aldous Huxley หรือภาพยนตร์ Castle in the Sky และ Nausicaä of the Valley of the Wind ของ Studio Ghibli ส่วนในปัจจุบันนั้น Solarpunk มักอยู่ในบทประพันธ์ เรื่องสั้น นวนิยาย หรืองานศิลปะต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ เช่นใน The Weight of Light ที่ตีพิมพ์โดย Arizona State University ในวีดิโอเกมอย่าง Cities: Skylines แม้แต่องค์ประกอบของประเทศ Wakanda ใน Black Panther ของ MCU ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นไปตามแนวคิด Solarpunk และสำนักข่าว VICE ได้ยกให้โฆษณาโยเกิร์ต Chobani เป็นงานกระแสหลักที่แสดงความเป็น Solarpunk ออกมาได้อย่างชัดเจนที่สุด (ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะถึงขนาดดึงตัว Joe Hisashi นักแต่งเพลงที่เคยร่วมงานกับ Studio Ghibli ในงานอย่าง Spirited Away และ Kiki’s Delivery Service มาแต่งเพลงประกอบโฆษณา)
โฆษณา “Dear Alice” — Chobani
อย่างไรก็ตาม คำถามต่อมาคือ ภาพเมืองในอนาคตเหล่านี้นำไปสู่อะไรกันแน่?
ความสำคัญ วรรณกรรม อนาคต
นอกจาก Cyberpunk แล้ว ทั้ง Solarpunk หรือวรรณกรรมพังก์แบบอื่น กลับไม่ได้เป็นที่รู้จักติดหูในระดับเดียวกับ Cyberpunk ซึ่งอยู่ในกระแสหลักมาตั้งแต่ทศววรษ 1960 จากช่วง New Wave Science Fiction Movement และดูไม่มีท่าทีว่าจะเสื่อมความนิยมลง จากกระแสล่าสุดของอนิแมะ Cyberpunk Edgerunner ที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามบน Netflix
สาเหตุที่ Cyberpunk ยังคงความนิยมในสังคมกระแสหลักได้อยู่ มีจุดเริ่มต้นจากยุคบูมของแนวคิด Postmodernism/Neoliberalism ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเกินกว่าที่ทฤษฎีทางสังคมและปรัชญาจะตีกรอบอธิบายได้ทันท่วงทีนี้เอง ที่ทำให้วรรณกรรมกลายเป็นสิ่งที่ตีกรอบความรับรู้ต่อสังคมแทนทฤษฎี ซึ่ง Jean Baudrillard “เจ้าพ่อแห่งโพสโมเดิร์น” ได้กล่าวถึงปรากฏการณ์นี้ไว้ว่าไม่ใช่การคาดคะเนถึงอนาคต แต่สะท้อนความเข้าใจต่อสังคมและการเมืองผ่านวรรณศิลป์ เช่น Neuromancer (1984) ของ William Gibson ที่เป็นนิยายไซไฟต้นแบบของ Cyberpunk และจุดประกายไอเดียให้กับภาพยนตร์ The Matrix ก็ถูกยกตัวอย่างโดย Mike Davis นักเขียนและนักทฤษฎีเมืองชาวอเมริกัน ว่านวนิยายไซไฟทำงานเหมือนทฤษฎีสังคมที่คอยเตือนถึงภัยที่จะเกิดขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่าความนิยมของ Cyberpunk มาจากสำนึกรับรู้ของสังคมต่อปัญหาของทุนนิยมยุคปลาย
ในทางกลับกัน แม้ Solarpunk จะเพิ่งเป็นที่สนใจได้ไม่นาน แต่ก็ไม่ใช่แนวคิดโลกสวยไร้เดียงสากลางทุ่งลาเวนเดอร์ สิ่งที่ Solarpunk เสนอ เช่น Circular Economy Green Urbanism Walkable Cities หรือ Renewable Energy ก็เป็นเรื่องที่สังคมรู้จักกันดี หรือแนวความคิดแบบ DIY Waste Management Sustainable Technology ก็ไม่ใช่อะไรที่ต้องรอให้อนาคตมาถึงก่อนถึงจะเริ่มทำได้ ทั้งนี้ก็อาจต้องระวัง Green washing จากระบบทุนนิยมที่บริษัทยักษ์ใหญ่มักจะทำแค่เพียง “แตะ” เรื่องเหล่านี้เพื่อหลบเลี่ยงปัญหา ดังจะเห็นได้จากว่าแม้แต่โฆษณา Dear Alice ข้างต้นก็ยังถูกวิจารณ์ว่าสุดท้ายก็เป็นเพียงโฆษณา (จนถึงขั้นมีเวอร์ชั่นที่ชาวเน็ตตัดต่อเอาโฆษณาออก https://youtu.be/UqJJktxCY9U) หรือหากลองเสิร์ชคำว่า Solarpunk ใน Spotify ก็จะเจอ Mix เพลงที่ทางแอพหาให้ตามอัลกอริทึ่ม (https://open.spotify.com/playlist/37i9dQZF1EIgOw9IO2virA?si=OllLWc3WStar21j688STPA ซึ่งอันนี้เป็น Mix ของผู้เขียนเอง ผู้อ่านลองแชร์ของตัวเองกันได้ สัญญาว่าจะตามไปฟัง)
ความ punk (ขบถ) ที่คำว่า solar มาขยายความนั้น มาจากการขบถต่อความสิ้นหวังต่ออนาคต ขบถต่อการเปลี่ยนแปลงของเมืองที่มีแต่จะเลวลง ขบถต่อธรรมชาติของมนุษย์ที่ถูกมองว่าไร้ค่า ล้างผลาญ หรือไม่สมควรเกิดมาตั้งแต่แรก (antinatalism) ซึ่งมักมีความเกี่ยวโยงกับความหดหู่ซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในระบบทุนนิยม ด้วยเหตุที่ว่าความหวังแห่งการขบถนี้อุปมาราวกับพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นตัวแทนของพลังงานที่สะอาด ยั่งยืน และไร้ซึ่งการควบคุมจากอำนาจศูนย์กลาง จึงอาจกล่าวได้ว่าในขณะที่ Cyberpunk ได้ความพังก์จากการที่ฮีโร่ในเรื่องยืนหยัดต่อเมืองที่กลืนกินคน Solarpunk ได้ความพังก์มาจากเมืองที่ยืนหยัดต่อความสิ้นหวังต่อระบบทุนนิยม ดังเช่นใน Solarpunk: Note toward a manifesto ที่นิยามความพังก์นี้ว่าเป็น “ขบถผ่านรูปแบบโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure as a form of resistance)”
Frederic Jameson นักทฤษฎีมาร์กซิสต์ ชี้ให้เห็นว่าในระบบทุนนิยมเราต่างถูกตัดขาดจากสังคมและประวัติศาสตร์ การทำให้กลายเป็นสินค้าทำให้เรามองไม่เห็นว่าเรามาจากไหนและกำลังเคลื่อนไปที่ใด โดย Jameson ได้เสนอว่าการมีแผนที่ทางการรับรู้ (Cognitive Mapping) ที่รวมรูปแบบทางสุนทรียะ (Aesthetics) นั่นคือแนวคิดระเบียบทางการเมืองและวัฒนธรรมแบบใหม่ อย่างเช่น Solarpunk จึงทวีความสำคัญในการจินตนาการถึงภาพของอนาคตและตำแหน่งแห่งที่ในประวัติศาสตร์ของผู้คน
โลกแห่งความจริงในปัจจุบันที่อยู่ตรงหน้านั้นเต็มไปด้วยปัญหามากมาย การสะท้อนความเข้าใจต่อสถานการณ์แบบ Cyberpunk อาจทำให้เรารับรู้ว่าปัญหาคืออะไร แต่หากจะก้าวไปสู่อนาคตใหม่แล้ว ต้องอาศัยความกล้าขบถที่จะจินตนาการถึงอนาคตที่มีความหวัง ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้ และถึงจุดจบของทุนนิยมยุคปลาย จะเห็นได้ว่านี่ต่างหากที่เป็นสิ่งที่วรรณกรรม Solarpunk ชวนให้ฝันถึงอนาคตของเมืองแบบใหม่ได้อย่างไม่ต้องเคอะเขิน
หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ขอลองถามอีกครั้งว่า “ภาพของเมืองที่ดีของคุณเป็นแบบไหน?”
เรื่อง : บุญญาภิวัฒน์ สมบูรณ์ทรัพย์
บรรณาธิการ : ปูรณ์ ดวงปัญญา
ภาพ : จุฑาทิพย์ แก้วนิล