Sandbox
แซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) หรือกระบะทราย หมายถึงพื้นที่ทดลอง (Testing Environment) ที่มีขอบเขตกำหนดไว้อย่างชัดเจน เพื่อทดสอบว่าในสภาวะที่ไม่มีอุปสรรคด้านระเบียบปฏิบัติใด ๆ ความคิดสร้างสรรค์อันไร้ข้อจำกัดนั้นจะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่ โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสังคมเป็นวงกว้าง เช่นเดียวกับการที่เด็ก ๆ สามารถเล่นได้อย่างเต็มที่ภายในกระบะซึ่งมีขอบกั้น โดยที่ทรายภายในกระบะไม่สามารถไหลออกไปยังบริเวณอื่นได้ เดิมที Sandbox มักถูกใช้ในแวดวงธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจด้านเทคโนโลยีเพื่อเป็นสนามทดสอบแนวคิดทางธุรกิจและพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมก่อนปล่อยออกสู่ตลาด
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไม่อาจดำเนินธุรกิจหรือนำนวัตกรรมมาใช้งานได้คือกฎหมาย เนื่องจากนวัตกรรมเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนทำให้อาจขัดกับกฎหมายที่มีอยู่เดิมหรือกฎหมายที่บังคับใช้อยู่นั้นไม่ครอบคลุม โดยข้อจำกัดทางกฎหมายนี้สามารถแก้ได้โดย Regulatory Sandbox ซึ่งคือการที่หน่วยงานรัฐเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแลเพื่อป้องกันหรือลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อสังคมส่วนรวมจากนวัตกรรม ซึ่งในปัจจุบันไม่ได้จำกัดเพียงโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ แต่ยังรวมถึงผลิตภัณฑ์ทางเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และนโยบายหรือกฎระเบียบต่าง ๆ อีกด้วย ทั้งนี้กระบะทรายจำเป็นต้องมีขอบเขตที่ชัดเจนแน่นอน ซึ่งก็คือการที่รัฐออกมาตรการเพื่อกำกับดูแลอย่างรัดกุม โดยขอบเขตของกระบะทรายอาจเป็นการจำกัดโดยพื้นที่ในทางภูมิศาสตร์ การจำกัดจำนวนหรือกลุ่มผู้บริโภค การจำกัดระยะเวลาในการทดสอบ หรือมาตรการใด ๆ ที่เหมาะสมเพื่อควบคุมความเสี่ยงและคุ้มครองคนส่วนใหญ่ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ในขณะที่นักพัฒนาสามารถทดลองไอเดียใหม่ ๆ ได้โดยไม่ต้องเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีทางกฎหมายเพราะได้ดำเนินการภายใต้มาตรฐานการกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐแล้ว
ปัญหาการศึกษาไทย
ปัญหาสำคัญในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานคือความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ตามการพัฒนาการศึกษาในประเทศไทยมีข้อจำกัดใหญ่อยู่ 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก การไม่มีระบบที่รองรับการทำงานแบบบูรณาการ ทั้งในระหว่างองค์กรทางการศึกษาที่ทําหน้าที่ต่างกัน เช่น องค์กรด้านหลักสูตร องค์กรด้านการทดสอบและการประเมินผล องค์กรด้านการเงินและองค์กรด้านการบริหารจัดการ และระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ทำให้ยังไม่เกิดกลไกในการจัดการศึกษาร่วมกัน
ประการที่สองปัญหาการปรับใช้กฎหมายและนโยบายเนื่องจากบริหารในรูปแบบจากบนลงล่าง (Top down) ทำให้ไม่สามารถนำนโยบายไปปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ เช่น การที่เขตพื้นที่ทางการศึกษามีหน้าที่ตามกฎหมายในการสนับสนุนการดำเนินการของสถานศึกษา ตามเจตนารมณ์ให้เกิดการกระจายอำนาจ แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นไปตามหลักการกระจายอำนาจเพราะเขตพื้นที่การศึกษามุ่งดําเนินนโยบายจากส่วนกลางแทนที่จะสนับสนุนการดําเนินการของสถานศึกษา
และประการสุดท้ายคือการที่ไม่มีกลไกขยายผลนวัตกรรมทางการศึกษาเพื่อใช้ในสถานศึกษาอื่น ดังนั้นสถานศึกษาขนาดเล็กหรือที่ตั้งอยู่ห่างไกลจึงไม่ได้รับการถ่ายทอดและปรับใช้การจัดการเรียนการสอนและวิธีปฏิบัติที่ดี (กองกฎหมายการศึกษาและวัฒนธรรม สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, 2565)
Education Sandbox
การศึกษาถือเป็นหนึ่งในแผนการปฏิรูปประเทศ 13 ด้าน เพื่อแก้ปัญหาการศึกษาตามแผนการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ทำให้มีพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (Education Sandbox) หมายถึง พื้นที่ทดลองนวัตกรรมทั้งด้านการบริหารจัดการ การเรียนการสอน และนวัตกรรมเชิงนโยบาย โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1) มีเป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
2) ใช้นวัตกรรมการเรียนรู้อันประกอบไปด้วยสื่อการสอน รูปแบบการสอน และการประเมินทักษะแบบใหม่ โดยเป็นไปตามหลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency-Based Education: CBE) ซึ่งมุ่งเน้นให้ผู้เรียนพัฒนาตนเองตามความถนัดหรือความสนใจและมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning
3) กระจายอำนาจและส่งเสริมสภาพการทำงานที่มีความยืดหยุ่น โดยมีการปรับกฎระเบียบและกำหนดให้หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษาเป็นนิติบุคคล ทำให้โรงเรียนต่าง ๆ สามารถดำเนินการแก้ไขและพัฒนาด้านการศึกษาได้อย่างรวดเร็วและเป็นอิสระมากขึ้น
4) มุ่งเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วม ส่งเสริมความร่วมมือในระดับท้องถิ่นโดยอาศัยการขับเคลื่อนในระดับจังหวัดเป็นฐาน พัฒนากลไกการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้สามารถจัดการเรียนการสอนแตกต่างกันตามความต้องการและสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ (Area-Based Education: ABE) และใช้ระบบผสมผสานทั้งจากบนลงล่าง (Top down) และล่างขึ้นบน (Bottom up)
5) พัฒนาทรัพยากรบุคคล ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพผู้บริหารและครูผู้สอน
6) มีขอบเขตในด้านพื้นที่ทดลองโดยจำกัดเฉพาะสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่ได้รับอนุมัติเป็นสถานศึกษานำร่องเท่านั้น และมีขอบเขตในด้านระยะเวลาโดยจัดให้มีการประเมินทุก ๆ 3 ปี เมื่อผ่านเกณฑ์จึงสามารถขยายผลกับสถานศึกษาแห่งอื่น
ในเดือนมกราคม 2566 มีสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้งสิ้น 541 สถานศึกษา ใน 11 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สุโขทัย แม่ฮ่องสอน กระบี่ ตราด สระแก้ว จันทบุรี ภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ธานี และอุบลราชธานี โดยมีการจัดการแก้ปัญหาอย่างเหมาะสมตามแต่ปัญหาในแต่ละพื้นที่ เช่น จังหวัดสุโขทัยมุ่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในเด็กด้อยโอกาส จังหวัดแม่ฮ่องสอนแก้ปัญหาการขาดแคลนครูและผู้บริหาร ในขณะที่จังหวัดอุบลราชธานีจัดหลักสูตรที่ทันสมัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนตามสมรรถนะ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามีข้อที่น่ากังวลด้านผลกระทบในทางลบที่อาจเกิดขึ้นทั้งต่อตัวผู้เรียน บุคลากรทางการศึกษา รวมถึงชุมชนและสังคม เช่น การขยายผลนวัตกรรมทางการศึกษาในสถานศึกษาอื่นเพราะนวัตกรรมที่มาจากความร่วมมือในท้องถิ่นอาจไม่ประสบความสำเร็จในอีกพื้นที่ที่มีสภาพปัญหาแตกต่างกัน เช่น ในชนบทที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ไปทำงานนอกพื้นที่และไม่ได้อาศัยอยู่ร่วมกันกับเด็ก การจัดการเรียนการสอนที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองจึงไม่เหมาะสมและอาจกระทบต่อพัฒนาการของผู้เรียน จึงควรใช้ความระมัดระวังในการนำนวัตกรรมไปปรับใช้นอกพื้นที่นำร่อง นอกจากนี้การเป็นสถานศึกษานำร่องย่อมมีผลกระทบต่อครูและบุคลากรในสถานศึกษาดังกล่าวในทางใดทางหนึ่ง ดังที่มีบทบัญญัติเฉพาะเกี่ยวกับระบบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของสถานศึกษานำร่อง เพื่อลดผลกระทบกรณีที่มีการโยกย้ายบุคลากรระหว่างสถานศึกษานำร่องและโรงเรียนทั่วไป
Higher Education Sandbox
นโยบายการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) คือ โครงการนำร่องในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่มีเป้าหมายในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์หรือกำลังคนเฉพาะทางที่ตอบโจทย์นโยบายหรือยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ผ่านการทดลองใช้การจัดการศึกษารูปแบบใหม่ซึ่งมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ โดยแบ่งออกเป็น
1) นวัตกรรมทางการศึกษาซึ่งไม่สามารถดำเนินการภายใต้มาตรฐานการอุดมศึกษาเนื่องจากมีกฎระเบียบที่เป็นข้อจำกัด เช่น การแก้ไขกฎกระทรวงฯ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่เป็นที่ยอมรับจากภาคอุตสาหกรรมมาเป็นผู้สอนในสถาบันอุดมศึกษาได้ การลดเวลาในการเรียนให้เหลือเพียง 3 ปี
2) นวัตกรรมทางศึกษาที่ยังไม่มีมาตรฐานการอุดมศึกษามารองรับในปัจจุบัน เช่น การจับคู่ภาคเอกชนเพื่อร่วมผลิตนักศึกษา หลักสูตรระยะสั้นซึ่งเรียนรู้ทฤษฎีร่วมกับการฝึกปฏิบัติในภาคอุตสาหกรรม
ทั้งนี้โครงการนี้ก็มีขอบเขตกระบะทรายเช่นกัน โดยข้อกำหนดสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ. 2564 ได้จำกัดพื้นที่ทดลองเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับอนุมัติ จำกัดระยะเวลาโดยจัดให้มีการประเมินปีละ 1 ครั้ง และยังมีมาตรการในการกำกับดูแลโดยกำหนดให้ต้องมีการรายงานผลให้กระทรวงทราบอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
นวัตกรรมทางสังคม
ระบบการศึกษาที่ดีมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน เนื่องจากสถาบันการศึกษาเป็นสถาบันที่มีหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาและพัฒนาศักยภาพของคน อย่างไรก็ตามในการแก้ปัญหาระบบการศึกษาจำเป็นต้องพิจารณาปัญหาสังคมแบบองค์รวมเนื่องจากแต่ละปัญหาล้วนเชื่อมโยงถึงกัน เช่น ปัญหาความยากจน ปัญหาการศึกษา และปัญหายาเสพติด ดังนั้นการออกแบบการเรียนการสอนหรือนโยบายการศึกษาโดยมองแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษา โดยละเลยที่มาของปัญหาซึ่งมาจากปัญหาสังคมอื่น ๆ จึงไม่อาจนำไปสู่สังคมที่แข็งแรงมั่นคงได้
เมื่อพิจารณาถึงนวัตกรรมทางสังคมในความหมายอย่างกว้างอาจกล่าวได้ว่าคือวิธีการใหม่หรือสิ่งใหม่ใด ๆ ที่คนในสังคมยอมรับให้ใช้เพื่อแก้ปัญหาในสังคมนั้น ๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่โครงการที่ริเริ่มโดยรัฐ การเกิดขึ้นขององค์กรไม่แสวงหากำไรเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะด้าน ไปจนถึงภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือธุรกิจที่นำเสนอสินค้าหรือบริการเพื่อเอื้อความสะดวกสบายก็ถือว่าเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและทำให้สังคมมีความเป็นอยู่ที่ดึขึ้นในทางอ้อม
นวัตกรรมเชิงนโยบายจึงควรออกแบบในลักษณะ Systemic Innovation หรือชุดของนวัตกรรมที่เป็นระบบ เชื่อมโยงถึงกัน จึงต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่หลากหลาย และกลไกการบริหารจัดการแบบบูรณาการระหว่างองค์กรเพื่อให้ข้อมูลต่าง ๆ เชื่อมโยงถึงกันอย่างครบถ้วนและเป็นระบบเพื่อให้เอื้อต่อนักพัฒนาในการวางแผนแก้ไขปรับปรุงหรือคิดค้นนวัตกรรมทางสังคม
ทั้งนี้เมื่อสังคมจริงไม่ได้จำกัดเพียงแค่กระบะทรายที่มีเด็กเพียงคนเดียวที่ก่อปราสาททราย แต่เปรียบเหมือนชายหาดคลื่นลมแรงที่มีผู้คนมากมายทำกิจกรรมที่หลากหลายในพื้นที่เดียวกัน การกำกับดูแลจึงยากขึ้นและจำเป็นต้องมีมาตรการต่าง ๆ มารองรับ การทดสอบนวัตกรรมทางสังคมจึงเป็นการทดลองอย่างอิสระภายใต้มาตรการกำกับดูแลโดยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้น Sandbox หรือโครงการนำร่องใด ๆ จำเป็นต้องมีหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลโดยติดตามการรายงานผลและประเมินผลสัมฤทธิ์อย่างสม่ำเสมอในระยะเวลาอันสมควรจนมั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อสาธารณะ และพึงตระหนักว่าสังคมมีความเป็นพลวัต เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดปัญหาใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีมาตรการที่เหมาะสมมารองรับ นวัตกรรมทางสังคมจึงถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาสังคมต่าง ๆ รวมถึงปัญหาการศึกษา
เขียน: ตีรณา เกียรติ์สุขสถิตย์
พิสูจน์เนื้อหา: สิรินภา ทวีพงศ์ภิญโญ
ภาพ: บุญญาภิวัฒน์ สมบูรณ์ทรัพย์
พิสูจน์อักษร: อิสริยา ศุภกิจอนันต์คุณ