รู้จัก Independence living และ Universal Design: แนวคิดเพื่อสังคมที่โอบรับคนพิการอย่างแท้จริง
หากมีใครถามว่า “ความพิการ” คืออะไร ภาพที่เด่นชัดขึ้นมาในความคิดของหลายคนคงจะเป็นภาพของการรักษาพยาบาล ภาพความเจ็บป่วย หรือภาพการใช้ชีวิตที่ยากลำบาก และหากถามต่อไปอีกว่า คุณมีมุมมองต่อ “คนพิการ” อย่างไร คนจำนวนไม่น้อยก็จะให้คำตอบว่า คนพิการน่าสงสาร น่าเห็นใจ หรืออาจจะตอบว่าเป็นกลุ่มคนที่เราต้องเมตตาและให้ความช่วยเหลือ ความรับรู้ต่อ “ความพิการ” และ “คนพิการ” เช่นนี้ เรียกได้ว่าเป็นผลผลิตหนึ่งของการมองความพิการด้วยกระบวนทัศน์ทางการแพทย์ (Medical Model) หรือการมองความพิการในฐานะ “ความเจ็บป่วย” “ความบกพร่อง” หรือ “ความไม่ปกติของร่างกาย” [1] โดยมี “ร่างกายที่สมบูรณ์” หรือร่างกายที่อวัยวะครบ 32 มีประสาทสัมผัสครบถ้วนทั้งทางสติปัญญาและสภาพจิตใจเป็นเกณฑ์วัด “ความปกติ” และนี่ถือได้ว่าเป็นมุมมองหลักที่สังคมและคนส่วนใหญ่มีต่อคนพิการด้วยเช่นกัน
แล้วการมองคนพิการด้วยกระบวนทัศน์ทางการแพทย์เป็นปัญหาอย่างไร? การมองว่าความพิการเป็นสิ่งที่ไม่ปกติหรือเป็นร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ทำให้การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมุ่งเน้นไปที่รักษาหรือกำจัดความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจออกไปเพื่อให้เข้าใกล้ร่างกายที่เป็น “ปกติ” ที่สุด แน่นอนว่าแนวทางนี้ช่วยให้เราเข้าใจถึงความเจ็บป่วยและและการสูญเสียความสามารถในการทำงานของร่างกาย รวมถึงช่วยให้รัฐจัดสวัสดิการด้านสุขภาพให้คนพิการครอบคลุมได้มากขึ้น แต่สิ่งที่ขาดหายไปจากแนวนโยบายลักษณะนี้คือ “ความต้องการของคนพิการ” เช่น ความต้องการทางสังคมอย่าง การใช้ชีวิต การท่องเที่ยว หรืออื่น ๆ ที่ไม่ใช่แค่การฟื้นฟูสุขภาพเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้กระบวนทัศน์ทางการแพทย์ยังสะท้อนถึงการมองความพิการในแง่ลบ และผลิตซ้ำอคติทางสังคมต่อคนพิการจากการผูกโยงความพิการกับการเป็นภาวะที่ไม่พึงประสงค์ [2] ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาการไม่เห็นคุณค่าในตนเองของคนพิการหรืออาจนำไปสู่การตีกรอบการดำเนินชีวิตให้กับคนพิการไปโดยปริยาย
สังคมและมุมมองต่อคนพิการที่เปลี่ยนไป
ปัจจุบันมุมมองต่อคนพิการได้เคลื่อนจากกระบวนทัศน์ทางการแพทย์ไปสู่กระบวนทัศน์ทางสังคม (Social Model) มากขึ้น กระบวนทัศน์ทางสังคมเป็นการมองความพิการที่พ้นจากตัวปัจเจกและชี้ให้เห็นว่าสังคมเองก็มีส่วนสำคัญในการประกอบสร้างความพิการขึ้นมาด้วย ดังที่เราเองก็รับรู้ได้ว่าข้อจำกัดในการใช้ชีวิตของคนพิการหลาย ๆ ครั้งนั้นเป็นผลจากสภาพแวดล้อมทางสังคมมากกว่าที่จะเป็นเพราะความพิการด้วยซ้ำไป [3] เช่น การที่คนพิการต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่กับครอบครัวหรือผู้ดูแลไม่ค่อยได้ออกไปเที่ยวเล่น พักผ่อนหย่อนใจ หรือออกไปใช้ชีวิตทางสังคม หากออกไปก็ต้องเผชิญกับการเดินทางที่ค่อนข้างลำบากนั้น สาเหตุส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะสภาพแวดล้อมทางสังคมไม่เอื้ออำนวย รถสาธารณะไม่เป็นมิตรกับคนพิการ ตึกอาคาร สถานบันเทิงต่าง ๆ ก็ไม่เอื้อให้คนพิการเข้าไปใช้งานได้ด้วยตัวคนเดียว แต่ถ้าหากเราเปลี่ยนมุมมองว่าสภาพแวดล้อมนั่นแหละที่เป็นปัญหา แนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการก็จะเปลี่ยนจากการลดความพิการเป็นการลดอุปสรรคทางสังคมแทน ซึ่งแนวคิดที่พัฒนาบนฐานคิดของกระบวนทัศน์ทางสังคมที่เราจะไปทำความรู้จักกันก็คือ “การดำรงชีวิตอิสระ (Independent Living; IL)” และ “อารยสถาปัตย์” หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ การออกแบบเพื่อทุกคนหรือ Universal Design นั่นเอง
การดำรงชีวิตอิสระคืออะไรและจะเกิดขึ้นได้อย่างไร?
การดำรงชีวิตอิสระ (Independent Living: IL) เมื่อฟังดูแล้วอาจให้ภาพการแยกตนเองออกจากสังคม หรือการใช้ชีวิตด้วยตัวคนเดียวไม่ต้องพึ่งพาใคร แต่จริง ๆ แล้ว ความหมายของการดำรงชีวิตอิสระ คือการที่คนพิการสามารถเลือกตัดสินใจและควบคุมชีวิตของตนเองได้ในเรื่องทั่วไปเฉกเช่นคนที่ไม่พิการ เช่น เลือกว่าจะเดินทางยังไง ศึกษาต่อด้านไหน หรือสุดสัปดาห์นี้จะไปทำกิจกรรมอะไร เป็นต้น ดังนั้นแนวคิดดำรงชีวิตอิสระจึงเป็นหลักการที่เรียกร้องเพื่อให้คนพิการสามารถตัดสินใจด้วยตนเอง (self-determination) สามารถเข้าถึงโอกาสที่เท่าเทียม (equal opportunities) และเรียกร้องความเคารพตนเองของคนพิการ (self-respect) [4]
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกคนจะรู้จักหรือเข้าใจหลักการการดำรงชีวิตอิสระ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีปัจจัยสนับสนุนเพื่อให้การดำรงชีวิตอิสระเกิดขึ้นได้จริงด้วย ปัจจัยสำคัญอันแรกก็คือ “ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระ (Independent living center: ILC)” หรือสถานที่ให้บริการแก่คนพิการเพื่อการดำรงชีวิตอิสระ โดย ILC นั้นมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลข่าวสาร ให้คำปรึกษาแก่คนพิการ พิทักษ์สิทธิ์ และฝึกทักษะการดำรงชีวิตอิสระให้คนพิการ เช่น การออกสู่สังคม การใช้ระบบขนส่งสาธารณะ การบริหารการเงิน เป็นต้น [5] ในประเทศไทยนั้นมีการก่อตั้ง ILC ขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2545 ที่จังหวัดชลบุรี นนทบุรี และนครปฐม ปัจจุบันศูนย์การดำรงชีวิตอิสระในไทยมีประมาณ 16–17 แห่ง ซึ่งยังเป็นจำนวนที่ค่อนข้างน้อยโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศเกาหลีใต้ที่รับแนวคิด IL เข้ามาใช้ในปี 2545 เช่นเดียวกับไทยแต่กลับมี ILC มากกว่า 200 แห่ง [6]
ปัจจัยสำคัญอีกประการคือ “ผู้ช่วยคนพิการ (Personal Assistance: PA)” หรือบุคคลที่ช่วยเหลือคนพิการในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริการที่ภาครัฐจัดสรรให้ผู้พิการที่จำเป็นต้องมีผู้ช่วย เพื่อสนับสนุนให้คนพิการสามารถคิด ตัดสินใจ และจัดการชีวิตของตนเองได้ [7] PA นั้นสำคัญอย่างมากต่อแนวคิดการดำรงชีวิตอิสระ โดยเฉพาะในกรณีของคนพิการที่มีข้อจำกัดทางร่างกาย หรือคนที่อาจจะอยู่ใต้การดูแลของคนในครอบครัวหรือผู้ให้บริการทางการแพทย์ที่มักจะปรากฎใช้อำนาจเหนือคนพิการ เช่น การพยายามควบคุม กดดันหรือใช้อำนาจตัดสินใจแทน [8] หรือในบางครั้ง เราอาจพบว่าการดูแลคนพิการทำให้ผู้ดูแลเกิดความเครียดสูงจนนำไปสู่การทำร้ายร่างกายคนพิการ PA จึงเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยลดเหตุการณ์เช่นว่าได้ กล่าวคือ PA ช่วยให้ผู้ดูแลได้มีเวลาไปใช้ชีวิตของตนเอง ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้คนพิการทำตามความต้องการของตนเองได้อย่างเต็มที่ [9]
ไม่เพียงเท่านั้น การที่คนพิการจะดำรงชีวิตอิสระได้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เป็นองค์ประกอบสำคัญ อย่างสภาพแวดล้อมในสังคมก็ต้องเอื้อให้คนพิการใช้ชีวิตด้วยตนเองได้เช่นกัน หากคนพิการอยากไปเดินห้าง การคมนาคมและห้างก็ควรถูกออกแบบให้เป็นมิตรต่อการใช้งานของคนพิการ หรือหากเด็กพิการอยากเรียนโรงเรียนที่ต้องการ โรงเรียนก็ควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกหรือรูปแบบการเรียนการสอนที่ไม่กีดกันคนพิการจากระบบการศึกษา แม้กระทั่งการค้นคว้าข้อมูลหรือดูหนังฟังเพลงทางอินเทอร์เน็ต ระบบการใช้งานก็ควรรองรับการใช้งานของคนพิการด้วย ซึ่งสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งานที่พิการนั้นเกิดขึ้นได้ด้วยหลักการ “การออกแบบเพื่อทุกคน”
“การออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design)” เพื่อ “ทุกคน” อย่างไร?
“Universal Design ” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า UD ริเริ่มโดย Ronald Mace สถาปนิกผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ร่วมกับกลุ่มสถาปนิก วิศวกร และนักออกแบบแขนงต่าง ๆ พวกเขาได้พัฒนาหลักการ Universal Design หรือ
“การออกแบบผลิตภัณฑ์หรือสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ทุกคนสามารถใช้งานได้ให้มากที่สุด” ขึ้นมา โดยมีหลักสำคัญในการออกแบบ 7 ประการคือ ความเท่าเทียมในการใช้งาน (Equitable Use) ความยืดหยุ่นในการใช้งาน (Flexibility in Use) ความเรียบง่าย (Simple and Intuitive) ข้อมูลที่เข้าใจได้ง่าย (Perceptible Information) การออกแบบที่ลดข้อผิดพลาด (Tolerance for Error) การทุ่นแรง (Low Physical Effort) และท้ายที่สุด การมีพื้นที่และขนาดที่เหมาะสมสำหรับการใช้งาน(Size and Space for Approach and Use) [10] แม้ว่า “การออกแบบเพื่อทุกคน” จะริเริ่มโดยผู้พิการ แต่หลักการออกแบบทั้ง 7 ประการทำให้ UD สร้างประโยชน์ให้ทั้งคนชรา เด็ก ผู้มีครรภ์ และทุกคนในสังคมได้ด้วย
การนำหลัก Universal Design ไปปรับใช้ในชีวิตจริงก็สามารถทำได้หลายรูปแบบ ตัวอย่างที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุดก็คือ การปรับพื้นที่ทางกายภาพและการคมนาคม เช่น การสร้างทางลาดที่มีความกว้างและความชันเหมาะสม การติดตั้งเบรลล์บล็อก หรือการสร้างที่จอดรถคนพิการ เป็นต้น นอกจากนี้หากนำหลัก UD ไปใช้สำหรับจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนที่มีอัตลักษณ์หลากหลาย ก็สามารถทำได้จากการเปิดให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม นำเสนอและลงมือปฏิบัติหรือแสดงออกได้ในหลาย ๆ ทาง ตัวอย่างเช่น การมอบหมายงานที่ให้ผู้เรียนสามารถเลือกรูปแบบการนำเสนอได้เอง ไม่ว่าจะเป็น การเขียนรายงานหรือนำเสนอแบบกลุ่ม วิธีการนี้ช่วยให้ผู้เรียนออทิสติกที่อาจมีปัญหาเรื่องการเขียนการอ่านเลือกนำเสนองานด้วยการอัดวิดีโอแทนก็ได้ อีกตัวอย่างก็คือ การให้ผู้สอนอ่านออกเสียงคำสั่งหรืออธิบายเนื้อหาให้มากที่สุด และอาจอัดเสียงการบรรยายในชั้นเรียนไว้ ซึ่งก็เป็นแนวทางที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้นักเรียนที่มีปัญหาทางการเห็น หรือแม้กระทั่งนักเรียนที่ป่วยไม่สามารถเข้าเรียนสามารถทบทวนเนื้อหาย้อนหลังได้นั่นเอง [11]
แน่นอนว่าในยุคที่ข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ล้วนหาได้ทางอินเทอร์เน็ต ข้อมูลสารสนเทศก็ควรถูกออกแบบโดยยึดถือหลัก UD ด้วย ผู้ใช้งานจำเป็นต้องรับรู้และเข้าใจสารที่สื่อออกมาได้ไม่ว่าจะใช้งานอุปกรณ์ใด อุปกรณ์ที่ใช้งานเองก็ต้องสามารถควบคุมได้และทำงานได้แม่นยำด้วย การนำหลักการนี้ไปปรับใช้กับสื่อสารสนเทศก็สามารถพบเห็นได้ทั่วไป เช่น การใส่คำบรรยายเสียงในคลิปวิดีโอ [12] คำบรรยายเสียงในวิดีโอนั้นช่วยให้ผู้พิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมายสามารถรับชมสื่อต่าง ๆ ได้ เราได้เห็นแล้วว่า UD นั้นเป็นหลักที่ไม่ได้เป็นการออกแบบเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม UD ก็ยังมีข้อจำกัดที่ทำให้ผู้พิการบางประเภทยังเผชิญอุปสรรคในการใช้งานอยู่ แต่ UD ก็เป็นหนทางที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานที่มีข้อจำกัดและมีความแตกต่างหลากหลายสามารถเข้าถึงการใช้งานได้ถ้วนหน้ามากขึ้น
ท้ายที่สุด เราอาจจะสรุปได้ว่ามุมมองหรือภาพที่สังคมมองคนพิการไม่ได้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคลเพราะการรับรู้ของคนในสังคมเองก็สามารถส่งผลต่อสถานภาพของคนพิการในสังคมได้ด้วย อย่าง“แนวคิดการดำรงชีวิตอิสระ” และ “หลักการออกแบบเพื่อทุกคน” ก็เป็นอีกหนึ่งในหลาย ๆ แนวคิดที่สะท้อนการมองความพิการบนพื้นฐานความเท่าเทียม เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการโดยลดอุปสรรคทางสังคมและอำนวยความสะดวกให้คนพิการได้มีส่วนร่วมในสังคมโดยไม่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถ้าหากแนวคิดเหล่านี้ถูกผลักดันให้มีการนำไปปรับใช้ในวงกว้างนั้น สังคมไทยก็จะเป็นมิตรกับคนพิการมากขึ้นด้วย
[1] https://journalsofindia.com/medical-model-of-disability-vs-social-model-of-disability/
[2] Ibid.
[3] Ibid.
[4] กมลพรรณ พันพึ่ง, ไอแอล การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ = Independent living of persons with disabilities (สภาศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการประเทศไทย, 2551).
[5] อ้างซ้ำ.
[6] https://thisable.me/content/2022/10/850
[7] อ้างซ้ำ., [4]
[8] https://thisable.me/content/2017/08/261#_ftnref3
[9] https://today.line.me/th/v2/article/60pnL6B
[10] https://universaldesign.ie/what-is-universal-design/the-7-principles/
ผู้เขียน: วรรณพนิตา ลือชา
บรรณาธิการ: ดอม รุ่งเรือง
ภาพ: จุฑาทิพย์ แก้วนิล
พิสูจน์อักษร: ดอม รุ่งเรือง